วิตามินอี (Vitamin E) คือ สารอาหารที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ และยังช่วยบำรุงสมอง ดวงตา ผิงหนัง และเซลล์ในร่างกายของเราอีกด้วย วิตามินอีสามารถพบได้ทั่วไปในอาหาร เช่น ในถั่วอัลมอนด์ มะเขือเทศ
วิตามินอี (Vitamin E) คืออะไร?
วิตามินอี (Vitamin E) คือ สารอาหารที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ และยังช่วยบำรุงสมอง ดวงตา ผิงหนัง และเซลล์ในร่างกายของเราอีกด้วย วิตามินอีสามารถพบได้ทั่วไปในอาหาร เช่น ในถั่วอัลมอนด์ มะเขือเทศ ผักโขม และน้ำมันมะกอก การขาดวิตามินอี สามารถส่งผลให้เกิดอาการปวดประสาท ปัญหาด้านสายตา และการแท้งบุตร แต่ในขณะเดียวกัน การได้รับวิตามินอีในปริมาณที่มากเกินไป สามารถส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้ เช่น อาการตกเลือด เป็นต้น ดังนั้น เราจึงควรทำความเข้าใจว่าบุคคลกลุ่มใดบ้างที่ควรจะระวังการรับประทานอาหารเสริมวิตามินอีเป็นพิเศษ หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจรับประทาน
วิตามินอีมีประโยชน์อย่างไร?
- วิตามินอีช่วยบำรุง สมอง ดวงตา ผิวพรรณ และเซลล์เม็ดเลือดแดง
- วิตามินอีช่วยปกป้องและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว
- วิตามินอีมีสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งสามารถช่วยปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ หรือโมเลกุลที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคมะเร็ง อัลไซเมอร์ และโรคหัวใจ
- วิตามินอีอาจช่วยชะลอโรคอัลไซเมอร์ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระยะแรกและระยะกลาง
- วิตามินอีสำคัญต่อระบบสืบพันธุ์ งานวิจัยพบว่า ปัญหา เช่น การแท้งบุตร และ ภาวะการคลอดก่อนกำหนด อาจเกี่ยวข้องกับการขาดวิตามินอี
วิตามินอีอยู่ในอาหารชนิดใดบ้าง?
วิตามินอีนั้นสามารถพบได้ในอาหารชนิดต่าง ๆ ทั้งผลไม้ ผักใบเขียว ธัญพืช และน้ำมันพืช อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินอีนั้น ได้แก่
- ถั่วอัลมอนด์
- เฮเซลนัท
- มะม่วง
- ผลกีวี่
- มะเขือเทศ
- ผักโขม
- น้ำมันมะกอก
- น้ำมันทานตะวัน
ทุกวันนี้ เราสามารถพบสารสกัดวิตามินอีได้ทั้งในรูปแบบ แคปซูล ยาเม็ด ครีมทาผิว และน้ำมันวิตามินอี แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนนั้น ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินอีในปริมาณที่เพียงพออยู่แล้ว นอกจากนี้ อาหารเสริมวิตามินอีอาจไม่สามารถมอบประโยชน์ได้เหมือนกับสารต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในอาหารได้
ผลกระทบจากการขาดวิตามินอี มีอะไรบ้าง?
- การสลายของเม็ดเลือดแดง
- ภาวะกล้ามเนื้อสูญเสียการประสานสัมพันธ์กัน
- ปฏิกิริยาตอบสนองที่ต่ำกว่าปกติ
- ภาวะสูญเสียการรับรู้การเคลื่อนไหวของข้อต่อและความรู้สึกสั่นสะเทือน
- ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงในเด็กอ่อน
- ปัญหาเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ เช่น การแท้งบุตร และ ภาวะการคลอดก่อนกำหนด
จำเป็นต้องทานอาหารเสริมวิตามินอีไหม?
โดยปกติแล้ว คนเรามักได้รับวิตามินอีในปริมาณที่เพียงพอจากการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การขาดวิตามินอีจึงเป็นภาวะที่หาได้ยาก และการทานอาหารเสริมวิตามินอีนั้นจึงไม่จำเป็นสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่หากมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะการขาดวิตามินอี ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ
สิ่งที่ควรรู้ก่อนรับประทานวิตามินอี
ถึงแม้วิตามินอีจะมีประโยชน์อันหลากหลายต่อสุขภาพ การรับประทานวิตามินอีอาจมีความเสี่ยงต่อผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด หรือผู้ที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัดได้
- โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง การได้รับวิตามินอีในปริมาณที่มากเกินไปนั้นอาจมีผลข้างเคียงต่อผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ดังนั้น ผู้ที่มีโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองควรปรึกษาแพทย์ก่อนทานอาหารเสริมวิตามินอี
- การผ่าตัดและทันตกรรม หากต้องได้รับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานอาหารเสริมวิตามินอีก่อนการผ่าตัดอย่างน้อยเวลา 2 สัปดาห์ หรือตามที่แพทย์แนะนำ เนื่องจากวิตามินอีเพิ่มความเสี่ยงของของการเลือดออก และเลือดหยุดไหลช้า
- การตั้งครรภ์และให้นมบุตร หากอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ พยายามที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจรับประทานอาหารเสริมวิตามินอี
- โรคอื่น ๆ หากคุณมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ภาวะแพ้อาหารหรือยา ภาวะขาดวิตามินเค ภาวะเลือดออกผิดปกติ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง หรือโรคอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
ปริมาณของวิตามินอีที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน คือเท่าไหร่?
ปริมาณของวิตามินอีที่ร่างกายของวัยรุ่นและผู้ใหญ่ต้องการคืออย่างน้อย 15 มิลลิกรัมต่อวัน ปริมาณของวิตามินอีที่ผู้ใหญ่สามารถรับได้สูงสุดต่อวันนั้นอยู่ที่ 1,000 มิลลิกรัม ในขณะที่เด็กอายุระหว่างหนึ่งถึงสามปีสามารถรับวิตามินอีได้สูงสุด 200 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งนี้ ปริมาณของวิตามินอีดังที่กล่าวมานี้ ไม่เป็นที่แนะนำในการรับประทานนอกจากแพทย์เป็นผู้สั่งเท่านั้น
ผลข้างเคียงของการได้รับวิตามินอีในปริมาณที่มากเกินไป
การได้รับวิตามินอีในปริมาณที่มากเกินไป สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น
- อาการแพ้: ระคายเคือง ผื่นผิวหนัง ลมพิษ ปากบวม ลิ้นบวม ใบหน้าบวม คอบวม
- ภาวะเลือดออกผิดปกติ ปัสสาวะสีแดงหรือสีเข้ม อาเจียนเป็นเลือด หรือ รอยช้ำที่ผิดปกติ
- อ่อนเพลีย
- อ่อนแรง
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้
- ลำไส้เป็นตะคริว
- ท้องเสีย
- ตาพร่ามัว
วิตามินอีเก็บรักษาอย่างไร?
เก็บรักษาวิตามินอี ในอุณหภูมิห้อง (15 ถึง 30 องศาเซลเซียส) ให้พ้นจากแสงและความร้อน ทิ้งอาหารเสริมวิตามินอีเมื่อถึงวันหมดอายุ และเก็บให้พ้นจากมือเด็ก
วิตามินอี หรือสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์อันหลากหลายต่อสุขภาพนั้นมีส่วนช่วยในการบำรุงสมอง ดวงตา ผิวหนัง และเซลล์ในร่างกายของเรา วิตามินอีสามารถพบได้ตามธรรมชาติในอาหาร เช่น มะเขือเทศ ถั่วอัลมอนด์ มะม่วง ผักโขม และน้ำมันมะกอก การได้รับวิตามินอีในปริมาณที่มากเกินไป
สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้ ผื่นผิวหนัง และภาวะเลือดออกผิดปกติ ดังนั้น บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเลือดออกผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารเสริมวิตามินอี